ในยุคปัจจุบันการพัฒนาทักษะในการทำงานถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่พนักงานและนายจ้างไม่ควรมองข้ามและสมควรที่จะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เราสามารถแบ่งการพัฒนาทักษะการทำงานออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือการพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์ (EQ)และ ประเภทที่สองคือการพัฒนาทักษะทางด้านความสามารถที่เป็นสิ่งที่จับต้องและวัดได้ เช่นเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษ (English skill) เพิ่มทักษะในด้านการบริหารจักการ (management skill)ทักษะในการเป็นผู้นำ (leadership skill) และทักษะด้านการสื่อสาร (communication skill) เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาทักษะการทำงานควรจะต้องพัฒนาทั้งสองประเภทควบคู่กันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงสุด การที่พนักงานจะมีพร้อมทั้งสองทักษะก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายนักแต่ก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะพัฒนาไม่ได้
เทคนิคการพัฒนาทักษะการทำงานก็มีอยู่มากมายแล้วแต่มุมมองและความเหมาะสมของแต่ละบุคคลหรือองค์กรที่จะนำมาใช้เพื่อให้เข้ากับสภาพการทำงานและให้เข้ากับพนักงานให้มากที่สุด ตัวอย่างเทคนิคที่ขอนำเสนอมีดังต่อไปนี้
1. ค้นหาจุดอ่อนของตัวเอง (analyze your weakness) การค้นหาจุดอ่อนของตัวเองถือว่าเป็นสิ่งที่ยากเนื่องจากโดยธรรมชาติของคนส่วนมากจะไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไร หรือบางคนรู้แต่ไม่ยอมรับ แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไรบ้างหรือมีทักษะอะไรที่ควรจะพัฒนาคุณสามารถให้บุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือบุคคลในครอบครัวเป็นคนวิเคราะห์ หรือใช้แบบทดสอบ เราสามารถทดสอบจุดอ่อนและจุดเด่นของเราได้จากแบบทดสอบประเภทต่างๆ เช่น แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อดูลักษณะนิสัย แบบทดสอบทางภาษา แบบทดสอบการคำนวณ เป็นต้น
2. ตั้งเป้าหมาย (set objectives with timeline and expected result) หลังจากที่คุณรับรู้ถึงจุดอ่อนแล้ว คุณสามารถกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า
What: กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าคุณต้องการพัฒนาทักษะอะไร และเป้าหมายที่จะต้องไปถึง ณ จุดใด
Why: คุณจะต้องรู้ว่าทำไมคุณถึงเลือกที่จะพัฒนาทักษะเหล่านั้นและหลังจากที่คุณได้พัฒนาทักษะเหล่านั้นแล้วสิ่งที่คุณจะได้รับกลับมาจะมีอะไรบ้าง เช่น จะให้คุณทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งงานจะมีโอกาสมากขึ้น หรือทำให้คุณทำงานเข้ากับผู้อื่นได้ดี เป็นต้น
When: ตั้งระยะเวลาที่ชัดเจนว่าคุณจะใช้เวลาในการพัฒนาแต่ละทักษะเท่าไหร่
How: ค้นหาผู้ช่วย การพัฒนาทักษะสามารถทำได้ในหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ลงทะเบียน course ต่างๆตามสถาบันต่างๆ เรียนรู้งานกับหัวหน้างานหรือผู้มีประสบการณ์ หรือ เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการอ่านหนังสือทางด้านวิชาการหรือ case studies ต่างๆ
3. ปฏิบัติ (execute) การปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่คุณมีการบันทึกเป้าหมายที่ประกอบไปด้วยแผนงานที่ดูดีสวยหรูแต่ถ้าคุณไม่ปฏิบัติตาม ความตั้งใจและแผนงานของคุณก็เปรียบเสมือน แผ่นกระดาษที่ไม่มีค่าอะไรแต่ในทางกลับกับคุณกลับต้องมาเสียเวลาในการวิเคราะห์และวางแผนโดยไม่ได้อะไรกับเวลาที่คุณเสียไป
4. ประเมินผลและแก้ไขปรับปรุง(evaluation & improvement) หลังจากที่คุณได้ปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือการประเมินผลว่าทักษะของคุณได้มีการพัฒนาไปถึงจุดที่คุณตั้งไว้หรือไม่ ถ้าการประเมินมีผลเป็นที่ไม่น่าพอใจคุณก็ต้องกลับไปวิเคราะห์ว่าแต่ละขั้นตอนมีจุดบกพร่องอะไรบ้างเพื่อที่คุณจะได้ปรับวิธีหรือกลยุทธเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจ แต่ถ้าการประเมินผลออกมาเป็นที่น่าพอใจคุณยังสามารถตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพิ่มขึ้นไปอีกได้เช่นเดียวกัน
การพัฒนาทักษะการทำงานไม่ใช่เรื่องยาก แต่การปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จต่างหากที่เป็นสิ่งที่ยาก ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ และไม่เห็นความสำคัญ เช่น คิดว่าทำไปก็เท่านั้น ทำไปก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น อยากจะขอแนะนำว่าคุณกำลังทำร้ายตัวเองทางความคิด เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นหนึ่งในบุคคลที่กำลังทำร้ายตัวเองทางความคิดขอแนะนำให้คิดใหม่ให้คิดบวก สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่าคนเราทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาทักษะการทำงานของตนเองและคิดว่าทุกๆคนมีความรู้สึกและอยากที่จะให้ตัวเองมีความพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพียงแต่จะมีใครที่จะดึงความตั้งใจและความพยายามเหล่านั้นมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่ากันท่านั้น