บางคนอาจมีที่ปรึกษาดีๆ ที่แนะนำให้คุณแบ็คอัพ (สำรองข้อมูล) คอมพิวเตอร์ไว้บ่อยๆ ตั้งรหัสพาสเวิร์ดที่แฮกยากกว่านี้ ฟังดูเหมือนเอาจริงเอาจังเกินไปหรือเปล่า แต่เชื่อเถอะว่าคำแนะนำจะช่วยให้คุณประหยัดเงิน ประหยัดเวลา รักษาข้อมูลที่คุณหวงแหน แล้วก็ไม่ต้องทำให้คุณมาปวดหัวภายหลังด้วย ต่อจากนี้จะขอนำเสนอ 10อันดับสิ่งที่คุณควรทำกับเครื่องมือเทคโนโลยีของคุณ
10. หมั่นตรวจสอบค่าความเป็นส่วนตัวในโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นประจำ
คุณคงจะรู้อยู่แล้วว่าเฟซบุ๊คทำได้ไม่ค่อยดีนักในเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัว และโชคร้ายที่วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความเป็นส่วนตัวคุณคือเลิกใช้เฟซบุ๊คเสีย แต่วิธีที่ดีรองลงมาคือการคอยตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวหรือ Privacy Setting ในเฟซบุ๊คคุณอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดูว่าการตั้งค่าต่างๆ แสดงผลออกมาอย่างไรเพื่อปรับใช้ตามที่คุณต้องการ เช่นว่าคุณมีเพื่อนที่ชอบแท็กรูปน่าอายๆ ของคุณ คุณก็ปรับให้ห้ามแท็กหรือให้มีการตรวจสอบแท็กก่อนมันไปปรากฏบนหน้าวอลล์คุณ หรือคุณอยากเขียนระบายอารมณ์โดยไม่อยากให้แฟนเก่าคุณมาเห็นเข้า คุณก็สามารถปรับได้ Custom โดยเลือกเฉพาะคนที่คุณอยากให้เห็นโพสท์ต่างๆ ได้
ถ้าหากคุณคิดว่าปรับเองมันน่าเบื่อเกินไปก้ลองใช้บริการของ AdjustYourPrivacy.com ซึ่งเป็นเว็บให้บริการปรับค่าความเป็นส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่กับเฟซบุ๊คเท่านั้นยังรวมถึงทวิตเตอร์ กูเกิ้ลพลัส และโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ด้วย
9. ตระหนักว่าคุณใช้จ่ายค่าเทคโนโลยีไปเท่าไหร่แล้ว
สินค้าเทคโนโลยีมันก็มีราคาของมัน แต่อะไรบางอย่างก็อาจแพงโดยใช่เหตุได้ เช่น สายเสียบ USB เคลือบทองที่แสนแพง หรืออยู่คุณก็ซื้อ Gadget ใหม่ที่จริงๆ แล้วของเก่ามีตำหนิก็ยังใช้ได้ดี ลองเช็คดูว่ามีอะไรที่คุณจ่ายแพงเกินความจำเป็นบ้าง
8. จัดระเบียบให้ฮาร์ดไดร์ฟและหน้าเดสก์ท็อปของคุณ
หน้าเดสก์ท็อปหรือก็คือหน้าจอพื้นฐานของระบบปฏิบัติการเปรียบเสมือนโต๊ะทำงานของคุณ เป็นทางลัดไปสู่โปรแกรมที่คุณอยากใช้อย่างทันด่วน แต่บางครั้งการวางอะไรระเกะระกะมากเกินไป ก็อาจทำให้คุณหาโปรแกรมที่ต้องการไม่เจอ และยิ่งถ้าคุณใข้ Mac มันจะทำให้คอมพิวเตอร์คุณช้าลงด้วย และเมื่อคุณจัดระบบให้โต๊ะทำงานบนหน้าจอคุณแล้ว ก็อย่าลืมไปจัดระเบียบให้ตู้เก็บแฟ้มเอกสารของคุณคือฮาร์ดไดร์ฟด้วย เพราะคุณจะได้ไม่ต้องหงุดหงิดเวลาหาไฟล์ไม่เจอ
7. หลีกเลี่ยงมัลแวร์ (และไม่ทำให้มันไปติดคนอื่น)
มัลแวร์คือสิ่งไม่พึงประสงค์ซึ่งรวมถึงไวรัสที่หลบๆ ซ่อนๆ ตามอินเตอร์เน็ตแล้วหาโอกาสมาอยู่ในคอมพิวเตอร์คุณ พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าไวรัสพวกนี้มันทำงานยังไง จึงเป็นเรื่องดีกว่าที่จะหาวิธีหลีกเลี่ยงมัน ลองศึกษาหาข้อมูลเรื่องไวรัสดูสักหน่อยเพื่อแก้ความเข้าใจผิดเรื่องไวรัสคอมพิวเตอร์ แล้วลงโปรแกรม antivirus ดีๆ (ที่บางอันก็มีให้ใช้ฟรี) ระวังด้วยว่าแม้เครื่องคุณเองจะไม่ได้ติดไวรัส แต่คุณก็อาจมีส่วนช่วยแพร่มันได้เหมือนกัน …คราวหน้าเจอลิงค์อะไรแปลกๆ หรือเพื่อนคนไทยแท้ทักคุณเป็นภาษาอังกฤษอย่างไม่มีสาเหตุ ก็อย่าคลิกหรือโต้ตอบไป เพราะนั่นอาจจะเป็นปฏิบัติการรุกรานของมัลแวร
6. ใช้ Wi-Fi แบบปลอดภัยในที่สาธารณะ
เชื่อว่าบางครั้งคุณก็เกิดความรู้สึกอยากต่ออินเตอร์เน็ตขึ้นมาขณะอยู่นอกบ้าน และเมื่อคุณพบ Wi-Fi ที่ไม่ต้องใส่พาสเวิร์ดคุณก็ดีใจเหมือนเจอบ่อน้ำกลางทะเลทราย แต่ยังไงก็ต้องระวังให้ดี เพราะ Wi-Fi แปลกๆ เหล่านี้ขาดระบบความปลอดภัยและเปิดโอกาสให้คุณถูกโจมตีอยู่ตลอดเวลา และคนที่โจมตีคุณไม่จำเป็นต้องเป็นแฮกเกอร์ฝีมือฉมังอะไรเลย แค่เป็นแฮกเกอร์มวยวัดก็สามารถดมเจอข้อมูลสำคัญของคุณในเฟซบุ๊คหรือบัญชีสำคัญอื่นๆ ได้
แต่ข่าวร้ายกว่านั้นคือ แม้ว่า Wi-Fi ที่ใช้พาสเวิร์ดจะปลอดภัยกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยไปเสียหมด เพราะถ้าหากมีผู้ใช้คนอื่น (ที่ไม่ใช่คุณและสมาชิกในครอบครัวคุณ) พวกเขาอาจล่วงเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ วิธีแก้น่ะหรือ คือการใช้โปรโตคอลความปลอดภัย SSL อยู่ตลอดเวลา และปิดระบบ file-sharing ในการตั้งค่าของอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอ
5. รู้เท่าทันเรื่องหลอกลวง, กลโกง และเรื่องที่เข้าใจกันผิดๆ ในอินเตอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ตเป็นโลกที่เต็มไปด้วยกลโกง, การโกหกหลอกลวง และข้อมูลผิดๆ ที่บางครั้งคุณก็ตกอยู่ในวงจรส่วนหนึ่งของมัน บางเรื่องก็อันตราย เช่น กรณีอีเมล์ปลอมที่อ้างตัวว่าเป็นธนาคารมาหลอกเอาเลขบัญชีหรือรหัสของคุณ แม้ว่าบางอันจะดูไม่น่าจะมีอันตรายอะไรอย่างคำคมที่ไม่รู้ว่าใครพูดไว้แต่บอกว่าเป็นคนดังหรือบุคคลสำคัญพูด (บางครั้งก็เอาอะไรมาไม่รู้ แต่อ้างว่าไอน์สไตน์พูดไว้เชียวนะ)
อย่างไรก็ตามคุณควรรู้ทันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลลวงต่างๆ และจะดีมากถ้าไม่กลายเป็นคนช่วยปล่อยข่าวลือผิดๆ หรือกลลวงพวกนั้นด้วย จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ง่ายมากในการดูว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องโกหกในโลกออนไลน์ แล้วก็ง่ายมากที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ จำไว้เสมอว่า ถ้าอะไรก็ตามที่ดูน่าสงสัย มันก็มีโอกาสเป็นเรื่องหลอกลวงแบบที่คุณสงสัยนั่นแหล
4.รู้ว่าคุณต้องบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ของคุณอย่างไรบ้าง (และอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต้องทำ)
รู้สึกว่าทำไมยิ่งใช้ไป เครื่องยิ่งค่อยอืดลงมั้ย นั่นเพราะคอมพิวเตอร์ก็ต้องการการบำรุงรักษาบ้างเป็นบางคราว แต่คงไม่ต้องถึงขั้นยกเครื่องไปที่ร้านตลอดศก อะไรหลายๆ อย่างคุณก็สามารถทำได้ที่บ้าน เช่น กรณีของผู้ใช้วินโดวส์ก็แนะนำโปรแกรม CCleaner เอาไว้กำจัดพวกเศษซากไฟล์ชั่วคราว (temporary files) ที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่ามันคอยรกพีซีเราอยู่ ส่วนเรื่องการ Defrag ฮาร์ดไดร์ฟ (การจัดระเบียบข้อมูลฮาร์ดดิสก์เพื่อให้เรียงต่อเนื่องกัน) ถ้าคุณใช้ระบบปฏิบัติการใหม่ๆ อย่าง Windows Vista หรือ Windows 7ก็ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะมัน defrag ในตัวเองอยู่แล้ว เช่นนี้ เป็นต้น
3. ใช้พาสเวิร์ดที่ปลอดภัย
ถ้าคุณคิดว่าพาสเวิร์ดที่คุณมีในตอนนี้ปลอดภัยดีแล้วคุณอาจคิดผิดก็ได้ เพราะพวกแฮกเกอร์ก็เรียนรู้ทริกใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้คุณอาจต้องระวังเป็นพิเศษในยุคที่มีการทะลวงระบบความปลอดภัยของข้อมูลกันมากมาย การสั่งให้บราวเซอร์อินเตอร์เน็ตของคุณจำพาสเวิร์ดไว้ก็ไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย ดังนั้นคุณอาจต้องหาโปรแกรมจัดการพาสเวิร์ดมาใช้ หรือไม่ก็ควรหมั่นอัพเดตพาสเวิร์ดอยู่เสมอๆ
2. แบ็คอัพข้อมูลคอมพิวเตอร์คุณ
คุณอาจได้ยินคำแนะนำนี้มาเป็นล้านๆ ครั้งแล้ว แต่มันก็เป็นคำแนะนำที่มีเหตุผลนะ คุณอาจชะล่าใจว่าตัวเราลงไม่เกิดกรณีให้ต้องสูญเสียข้อมูลหรอก แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งมันเกิดขึ้นมา ยังไงก็มีข้อมูลสำรองไว้ให้อุ่นใจก็คงดีกว่ามาหงุดหงิดในภายหลัง โปรแกรมและขั้นตอนการแบ็คอัพก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก ทุกคนสามารถทำได้ ฉะนั้น…มาสำรองข้อมูลกันเถอะครับ
1. ใช้กูเกิ้ลให้เป็นประโยชน์อย่างมืออาชีพ
บางครั้งคุณคงรู้สึกว่าเพื่อนที่เป็น “โปร” ด้านเทคโนโลยีรอบตัวคุณเขารู้มาก รู้ไปหมด รู้มาจากไหนนักหนา แต่เชื่อเถอะ มหาสมุทรข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตมันจะไปไหนเสียนอกจากเว็บเสิร์ชเอนจิ้นค้นหาข้อมูลระดับโลกอย่างกูเกิ้ล แต่การค้นหาข้อมูลก็ต้องใช้ทักษะอยู่เหมือนกันนะ ถ้าคุณค้นหาข้อมูลเป็น คุณก็จะพบคำตอบของปัญหาที่เกิดกับคอมพิวเตอร์คุณหลายๆ เรื่องเชียวล่ะ เผลอๆ บางเรื่องคุณก็แก้ไขเองได้ด้วย