การเดินทางอันยาวนานของ HTML5 นับสิบปี ตั้งแต่การฟอร์มทีมร่างมาตรฐาน WHATWG ในปี 2004 ก็มาถึง “ก้าวแรก” เมื่อองค์กรกำกับมาตรฐานเว็บ W3C ประกาศรับรองมาตรฐาน HTML 5.0 อย่างเป็นทางการ (มีสถานะเป็น “Recommendation”)
ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ HTML5 ก็เป็นไปตามที่ Blognone เสนอข่าวมาโดยตลอด (และทุกวันนี้เราก็ใช้กันเยอะแล้วเพราะเบราว์เซอร์รองรับกันก่อนเป็นมาตรฐาน) เช่น audio,video, Canvas, SVG, MathML เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม HTML5 ยังถือว่าไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะนโยบายใหม่ของ W3C จะมองมาตรฐาน HTML5 เป็นเวอร์ชันย่อยๆ ที่พัฒนาไปเรื่อยๆ (แบบ Chrome/Firefox) โดยตอนนี้มาตรฐาน HTML 5.1 เริ่มเข้าสถานะ Nightly แล้ว และมีกำหนดออกรุ่นจริงในปี 2016Jeff Jaffe ซีอีโอของ W3C แสดงวิสัยทัศน์ผ่านบล็อกของ W3C ว่าตอนนี้พื้นฐานของเว็บยุคใหม่เสร็จสิ้นแล้วใน HTML5 งานขั้นต่อไปจะเรียกว่า “Application Foundations” หรือการวางพื้นฐานสำหรับการสร้างแอพพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยีเปิดของเว็บ (Open Web Platform) ที่แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มย่อยๆ
- Security and Privacy เช่น Crypto API
- Core Web Design and Development เช่น Web Components
- Device Interaction เช่น การรองรับฟีเจอร์ฮาร์ดแวร์บนมือถือ (GPS/NFC/Bluetooth)
- Application Lifecycle เช่น Web Workers
- Media and Real-Time Communications เช่น WebRTC
- Performance and Tuning เช่น ปรับปรุง garbage collection, framerate
- Usability and Accessibility
- Services เช่น payment, semantic web, social
ที่มา: Blognone, http://chai4d.blogspot.com/